ฐานพระเชียงแสน

พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน

ระหว่าง พ.ศ. 1600-2089
  พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน เป็นประติมากรรมในดินแดนสุวรรณภูมิที่สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างไทยเป็นครั้งแรก โดยฝีมือช่างชาวไทย ในมณฑลพายัพ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16-21 มีปรากฏแพร่หลายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือของไทย วัสดุที่นำมาสร้างงานประติมากรรมที่ทั้งปูนปั้น โลหะต่างๆ ที่มีค่า และทองคำบริสุทธิ์ พบมากในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

  พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน แบ่งออกเป็น สิงห์หนึ่ง,สิงห์สอง และสิงห์สาม โดยนักโบราณคดีได้กำหนดพระพุทธรูปสมัยนี้ออกเป็นรุ่นแรกและรุ่นหลัง

 ลักษณะ พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน รุ่นแรก มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปอินเดีย ราชวงศ์ปาละ เนื่องจากรับเอาแบบอย่างพระพุทธรูปอินเดีย เมื่อครั้งสมัยราชวงศ์ปาละเจริญรุ่งเรืองในอินเดียระหว่าง พ.ศ. 1273 – 1740 มาทุกประการ คือ พระองค์อวบอ้วน พระรัศมีเป็นต่อมกลมนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์มารวิชัย พระอุระนูน ชายสังฆาฏิอยู่เหนือราวพระถันพระพักตร์กลมสั้น พระโขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม  เส้นพระศกใหญ่เป็นต่อมกลมหรือเป็นเส้นหอยไม่มีไรพระศก ฐานบัวมีรอง ทั้งบัวคว่ำบัวหงายฐานเขียงไม่มีบัวฐานเขียงบัวมีกลีบแซมและมีเกสร

  ส่วนพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน รุ่นหลัง เป็นฝีมือช่างไทยชาวล้านนาและล้านช้าง พุทธลักษณะเป็นแบบลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัย ลักษณะที่ต่างไปจากสมัยเชียงแสนรุ่นแรกคือ ทำพระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาวยาวลงมาจรดพระนาภี เส้นพระศกละเอียด มีไรพระศก รัศมีเป็นเปลว พระพุทธรูปโดยส่วนรวมนั่งขัดสมาธิราบ มักหล่อด้วยโลหะทองคำ และสำริด เป็นแบบอย่างพุทธลักษณะที่นับว่าสวยที่สุด เช่น พระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ

  พระพุทธรูปที่ประดิษฐานที่ ณ สัทธา อุทยานไทย บนฐานพระพุทธรูปลำลองเท่าขนาดจริงจากโบราณสถานวัดป่าสัก ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย คือ พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน สิงห์หนึ่ง

  ลักษณะองค์พระจะอวบอ้วน พระรัศมีหรือพระเกตุมาลาเป็นตุ่มกลมรูปดอกบัวตูม พระพักตร์กลมสั้น พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม เส้นพระศกใหญ่เป็นตุ่มกลมหรือเป็นก้นหอย ไม่มีไรพระศก พระอุระนูนผึ่งผาย พระถันเป็นเต้างามดังดอกบัว จีวรแนบเนื้อ ผ้าสังฆาฏิเป็นแฉกคล้ายหางนกแซงแซวหรือคล้ายเขี้ยวตะขาบ มีชายเดียวหรือซ้อนกันหลายชั้นชาย ผ้าสังฆาฏิเหนือพระถัน

  พระพุทธรูปแบบนี้ที่เป็นพระนั่งมีปางเดียวเท่านั้น คือปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ฐานมีบัวรอง มีทั้งบัวหงายบัวคว่ำ มีกลีบแซมและมีเกสร

  ส่วน พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน สิงห์สอง พุทธลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน สิงห์หนึ่ง แตกต่างกันเฉพาะที่ผ้าสังฆาฏิที่จะเลยพระถันลงมาเล็กน้อย

พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน สิงห์สาม

  ลักษณะองค์พระคล้ายพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย พระเกตุมาลาเป็นรัศมีเปลว บางองค์มีเส้นไรพระศกทำเป็นเม็ดกลมหรือขมวดก้นหอย พระพักตร์รูปวงรีคล้ายผลมะตูม พระนาลาฎเรียบเต็ม พระขนงโก่งพองาม ปลายพระขนงตกหางพระเนตร ชายสังฆาฏิจรดที่พระอุทร

  นักโบราณคดีใช้ชื่อเมืองเชียงแสนในการกำหนดพุทธศิลป์ และยกย่องว่าเป็นพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์ และเข้าถึงศิลปะเชียงแสนอย่างแท้จริง และต่อท้ายด้วยคำว่า “สิงห์” เพื่อแสดงถึงความสง่างามของพุทธลักษณะนั่นเอง

หมายเหตุน่ารู้

  ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา ล้านนาพบกับการแตกแยกภายในการแก่งแย่งชิงอำนาจกันเอง ภัยจากภายนอกที่เข้ามาแทรกแซงทั้งจากพม่า กรุงศรีอยุธยา และล้านช้าง ทำให้อำนาจอิสระที่คงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแคว้นล้านนาล่มสลายลง

  เมื่อแคว้นล้านนาในภาคเหนือได้สถาปนาเมืองเชียงใหม่เป็นนครหลวงเมื่อ พ.ศ. 1839 หลังจากได้รวมเอาแคว้นหริภุญไชยเข้าไว้ด้วยแล้ว ได้มีการสร้างสรรค์ศิลปะไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเดิม เรียกว่า “ศิลปะเชียงแสน” ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “ศิลปะล้านนา” อันหมายถึงรูปแบบศิลปะที่กระจายอยู่ในภาคเหนือตอนบนตั้งแต่จังหวัดตาก แพร่ น่าน ขึ้นไป

ฐานพระเชียงแสน(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!