พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
ปลายพุทธศตวรรษที่ 18-20
เมื่อราว 1500 ปีที่แล้ว พุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบดั้งเดิม เริ่มเข้ามาดินแดนไทยครั้งแรกที่อาณาจักรทวารวดี สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่ดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางในปัจจุบัน โดยการเผยแผ่ของคณะธรรมทูตที่ได้รับการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย มีพระโสณะและพระอุตตระเป็นหัวหน้าคณะ นับจากนั้น ผู้คนในดินแดนไทยก็ได้รับเอาหลักธรรมของพุทธศาสนามาถือปฏิบัติ รวมทั้งคติความเชื่อที่หลอมรวมเป็นหนึ่งของวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมสืบมาจนปัจจุบัน
สันนิษฐานกันว่า ชนชาวไทยเริ่มรู้จักพระพุทธรูปครั้งแรกจากรูปเคารพขนาดเล็ก เทียบเคียงได้กับพระพุทธรูปสมัยอมราวดีที่พ่อค้าอินเดียนำติดตัวเข้ามาเพื่อสักการบูชาระหว่างการเดินทาง
ด้วยความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้คนในดินแดนไทยทุกยุคทุกสมัยได้สร้างศิลปกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และพระพุทธปฏิมาขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อแทนองค์พระศาสดา มีความสวยงาม เปี่ยมด้วยความหมาย
พระพุทธรูปจึงมิเพียงสะท้อนถึงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนาเท่านั้น หากยังแฝงนัยทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมในแต่ละช่วงเวลาด้วย แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านมาเกือบ 800 ปี ความรุ่งเรืองของพุทธปฏิมา และพุทธศิลป์ต่างๆ ในยุคสุโขทัย ที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้เป็นมรดกตกทอดที่ล้ำค่ายิ่งจวบจนปัจจุบัน เป็นประจักษ์พยานแห่งความเลื่อมใสศรัทธาต่อบวรพระพุทธศาสนาในแผ่นดินไทยที่มีต่อเนื่องยาวนาน
ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในสมัยสุโขทัย
หลังศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ หรือเถรวาทเริ่มเข้ามาในดินแดนไทยได้ 300 ปี ก็เริ่มแผ่ขยายความศรัทธาจากที่ราบลุ่มภาคกลางสู่ดินแดนตอนเหนือ สู่ราชอาณาจักรสุโขทัย
สมัยพ่อขุนรามคำแหง
เดิมที พระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาท และศาสนาพราหมณ์ได้รับความนิยมในราชอาณาจักรสุโขทัย หลักฐานที่จะเป็นเครื่องชี้ชัดก็คือ จารึกของพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีจารึกไว้ว่า (เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๖๕๔ พ.ศ. ๑๘๓๕) เมืองสุโขทัยมีวัดวาอารามมากมายครึกครื้น ส่วนพระสงฆ์นั้นมีปู่ครู มีพระสังฆราช มีพระเถระ มีพระมหาเถระ เรียนรู้พระไตรปิฎก
ครั้นเมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทราบเกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนาแบบลัทธิลังกาวงศ์ จึงได้นิมนต์พระมหาเถระสังฆราชมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ไปพำนักอยู่ที่วัดอรัญญิก ในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ก็เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่นั้นมาเรื่อยมา และพุทธศาสนานิกายมหายานก็ค่อยๆ เสื่อมกำลังหายไปในที่สุด
พ่อขุนรามคำแหงทรงนับถือพระในลัทธิลังกาวงศ์มาก ในวันพระจะนิมนต์พระมหาเถระขึ้นนั่งแสดงธรรมบนพระแท่นมนังคศิลา[1] อยู่เป็นประจำ พระองค์เป็นธรรมิกราชาอย่างแท้จริง ทรงประพฤติพระองค์เป็นดุจพ่อ ทรงใกล้ชิดกับราษฎรผู้เป็นเหมือนลูกเสมอ จึงได้เกิดมีสุภาษิตสอนราษฎร เช่น พ่อสอนลูก เรียกว่า สุภาษิตพระร่วง
ความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของพ่อขุนรามคำแหง ยังผลให้วิถีชีวิตผู้คนทั่วแว่นแคว้นอยู่ในศีลในธรรม ยังความร่มเย็นสู่ราชอาณาจักรสุโขทัย ดังปรากฎในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง พรรณนาถึงสภาพของของชาวสุโขทัยและประเพณีทางศาสนามีความว่า "คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา”
สมัยพระเจ้าธรรมราชา (ลิไท)
ในรัชสมัยของพระเจ้ามหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ผู้เป็นราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหง (ปีมะเส็ง จุลศักราช ๖๗๙ พ.ศ. ๑๘๖๐) ทรงสร้างพระมหาธาตุ และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ในเมืองนครชุม ในจารึกกล่าวว่าพระบรมธาตุและต้นมหาโพธิ์เป็นของที่แท้จริงได้มาจากประเทศลังกา และทรงส่งให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระสวามีสังฆราช[2]มาจากเมืองลังกามีนามว่า พระสุมนะ และพระองค์ก็ได้ออกผนวชชั่วระยะหนึ่งที่วัดอรัญญิก นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ได้ทรงพระผนวช ในขณะที่พระองค์ทรงผนวชก็ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” (มีหลายชื่อคือ “ไตรภูมิกถา" "ไตรภูมิโลกวินิจฉัย" และ "เตภูมิโลกวินิจฉัย") เป็นพระราชนิพนธ์ที่โดดเด่นและมีอิทธิพลต่อคนไทยมากในหลายยุคหลาย มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกสัณฐาน ที่แบ่งเป็น 3 ส่วน หรือ ไตรภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ
วรรณคดีเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวไทยเป็นจำนวนมาก เช่น นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด ทวีปทั้งสี่ (เช่น ชมพูทวีป ฯลฯ) กัป กลียุค วาระสุดท้ายของโลก พระศรีอริยเมตไตรย พระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่ทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงบาป บุญ คุณ โทษ นรก สวรรค์เป็นอย่างดี เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถอย่างลึกซึ้ง
พุทธศิลป์สมัยสุโขทัย
พระพุทธรูปแบบสุโขทัยมีอิทธิพลของศิลปะแบบลังกาเข้ามาปะปนอยู่มาก เห็นได้ชัดในพระพุทธสิหิงค์ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนครนั่นเอง เดิมทีพระพุทธรูปก่อนหน้านี้ ทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยมีเปลวรัศมีสูง เพิ่งจะมีขึ้นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย สังฆาฏิพระพุทธรูปในสมัยก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยเป็นแฉกชนิดที่เรียกว่า เขี้ยวตะขาบ พุทธศิลป์อื่นๆ อย่างโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ทั่วราชอาณาจักรสุโขทัยและเมืองบริวารอื่นๆ เช่น ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และนครสวรรค์ ก็ล้วนรับเอาอิทธิพลมาจากลังกาเช่นกัน เช่น พระมหาธาตุวัดช้างร้อง เมืองชะเลียง เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะสุโขทัย เริ่มมีขึ้นเมื่อแคว้นสุโขทัยรับพระพุทธศาสนาเถรวาทจากลังกา และพม่า ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง นอกจากนี้ อาณาจักรสุโขทัยสร้างขึ้นมาจากเส้นทางการค้าที่สำคัญ ทำให้ช่างสุโขทัยได้มีโอกาสเลือกรับเอาศิลปวัฒนธรรมจากหลายที่มาปะติดปะต่อ ปรับปรุง แล้วพัฒนา จนปลายเป็นงานศิลปะที่มีความเฉพาะตัว อ่อนช้อย งดงาม สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในอาณาจักรได้เป็นอย่างดี จนทำให้นักวิชาการยกย่องว่า ศิลปะสุโขทัยจัดเป็นศิลปะไทยที่งดงามที่สุด และมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง โดยเฉพาะพระพุทธรูปสุโขทัยที่มีลักษณะเด่นจนควรค่าแก่การยกย่องว่า ยุคสุโขทัยเป็น “ยุคทองของงานประติมากรรม”
พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
พระพุทธรูปสุโขทัยอาจแบ่งได้ เป็น 4 หมวดด้วยกันคือ หมวดใหญ่ หมวดกำแพงเพชร หมวดพระพุทธชินราช หมวดเบ็ดเตล็ด พระพุทธรูปทั้ง 4 หมวด แบ่งออกเป็น 3 รุ่น คือ
รุ่นแรก มีวงพระพักตร์กลมแบบลังกา บางเรียกว่า “ยุคก่อนยุคทอง” เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
รุ่นที่สอง มีวงพระพักตร์ยาว และพระหนุเสี้ยม บ้างเรียกว่าเป็น “ยุคทอง” คือพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21-22
รุ่นที่สาม น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา หรือ พระเจ้าลิไท พระองค์ทรงหาหลักฐานต่าง ๆ จากพระไตรปิฎกมาประกอบการสร้างพระพุทธรูป จนเกิดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นอีกแบบหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ วงพระพักตร์ รูปไข่คล้ายแบบอินเดีย ปลายนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทั้ง 4 นิ้ว บ้างเรียกว่า “ยุคหลังยุคทอง”
หมวดใหญ่
พระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่มีอยู่ทั่วไปเป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะ พุทธลักษณะคือ พระรัศมีเป็นเปลว ขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม (ตามแบบลักษณะมหาบุรุษจากอินเดีย) พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรยาว ลงมาถึงพระนาภี ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ ชอบทำปางมาวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง เช่นพระพุทธรูปวัดศรีชุม (ปัจจุบันอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
หมวดกำแพงเพชร
มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนในหมวดใหญ่ แต่มีลักษณะของวงพระพักตร์ตอนบนจะกว้างกว่าตอนล่างมากอย่างสังเกตเห็นได้ชัด พบที่จังหวัดกำแพงเพชร เช่น พระพุทธรูปหมวดกำแพงเพชร ที่พิพิธภัณฑ์สถานพระนคร กรุงเทพฯ
หมวดพุทธชินราช
พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระองค์ค่อนข้างอวบอ้วน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่มีปลายเสมอกัน มีลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการอยู่มาก หมวดนี้เชื่อกันว่าคงเริ่มสร้างครั้งแผ่นดินพระเจ้าลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 หรือหลังกว่านั้น เช่น พระพุทธชินราช ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก
หมวดเบ็ดเตล็ด
หมวดเบ็ดเตล็ดหรือหมวดวัดตะกวน เป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่มีศิลปะแบบเชียงแสนและลังกาเข้ามาปะปนอยู่มาก บางองค์มีลักษณะชายสังฆาฏิหรือจีวรสั้น พระนลาฏแคบ แต่พระองค์และฐานมักเป็นแบบสุโขทัย ที่เรียกว่าแบบวัดตะกวน (ตั้งชื่อตามชื่อวัดวัดตะกวน ในเมืองสุโขทัย ซึ่งมีการพบพระพุทธรูปแบบสุโขทัย และแบบแปลกๆ เป็นครั้งแรกที่นั่น) เชื่อว่าพระพุทธรูปแบบนี้ บางองค์อาจเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของศิลปะแบบสุโขทัยก็เป็นได้ ทั้งนี้ถ้าเราเชื่อว่าศิลปะเชียงแสนรุ่นแรกเกิดขึ้นก่อนศิลปะสุโขทัย บรรดาพระพุทธรูปปูนปั้นที่ค้นพบ ณ เจดีย์ทางทิศตะวันออกและในพระปรางค์วัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดเก่าในสมัยสุโขทัยก็ล้วนมีเป็นลักษณะแบบนี้ทั้งสิ้น
พระพุทธรูปหมวดใหญ่ ปางมารวิชัย
พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่จัดแสดงที่ ณ สัทธา อุทยานไทย บนฐานพระจำลองขนาดเท่าจริง จากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ก็คือพระพุทธรูปหมวดใหญ่ ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ สันนิษฐานว่าเป็นพุทธลักษณะที่สร้างขึ้นในช่วงที่พัฒนาการงานช่างสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองที่สุด มีแหล่งแรงบันดาลใจที่สำคัญมาจากศิลปะลังกา เป็นขนบช่างได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระพุทธรูปที่งดงามคลาสิคมากที่สุดของไทย”
ลักษณะขนบช่างที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์คือ ท่านั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานะ (เข่า)นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณีปางนี้นิยมทำเป็นประธานในพระอุโบสถ พระขนงหรือคิ้วโก่ง พระเนตรหรือตา เรียวยาว ปลายตวัดขึ้นอย่างงดงาม พระนาสิกหรือจมูกโด่งงุ้ม คล้ายจมูกของชาวตะวันตก ทรงแย้มพระโอษฐ์ หรือริมฝีปากเล็กน้อย และพระโอษฐ์โค้งเป็นคลื่น ซึ่งพบลักษณะที่พบเฉพาะพระพุทธรูปของสุโขทัยเท่านั้น ขมวดพระเกศาหรือผมเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระวรกายบอบบาง สูง พระอังสาหรือช่วงบ่าและไหล่ใหญ่ บั้นพระองค์หรือเอวเล็ก ประทับนั่งเอนพระวรกายไปข้างหลังเล็กน้อย ซึ่งต่างจากพระพุทธรูปสมัยล้านนาที่นิยมประทับนั่งตรงตั้งฉากเสมอ
คติความเชื่อ และประวัติความเป็นมา
ที่มาของพระพุทธรูปปางมารวิชัยมาจากพุทธประวัติ กล่าวคือ เมื่อพระโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้นั้น ก่อนที่จะประทับนั่งบนบัลลังก์หญ้าคาที่โสตถิยะพราหมณ์ถวายใต้ต้นมหาโพธิ์ พระองค์ได้ทรงตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า “ตราบใดที่ยังไม่บรรลุสิ่งที่พึงบรรลุได้ ความพยายามของบุรุษด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ แม้เลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังและกระดูกตามที เราจะไม่ลุกขึ้นจากอาสนะนี้”
ขณะนั้นเป็นเวลาพระอาทิตย์ตกดิน เมื่อประทับนั่ง และทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต พญามารที่ชื่อว่า “วสวัสตี” ที่คอยขัดขวางการทำความดีของพระโพธิสัตว์ตลอดมา เมื่อทราบพระดำริปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ก็เกิดหวั่นเกรงว่า หากปล่อยให้บรรลุความสำเร็จตามปณิธานแล้ว พระองค์ก็จะพ้นจากอำนาจของตนไป จึงได้ระดมพลเสนามารทั้งหลายมาผจญเพื่อขับไล่ด้วยวิธีที่น่ากลัวต่างๆ เช่น บันดาลให้พายุพัดรุนแรง บันดาลให้ฝนตกหนัก บันดาลให้เป็นอาวุธต่างๆ ระดับยิงให้ตกต้องพระองค์
พระองค์ได้ทรงระลึกถึงความดีที่ได้บำเพ็ญมา เรียกว่า “พระบารมี 10 ประการ” จึงมีพระทัยมั่นคงไม่หวาดกลัวต่ออำนาจมาร ที่มาแสดงด้วยวิธีการต่าง ๆ อาวุธที่หมายจะทำร้ายพระองค์กลับกลายเป็นเครื่องสักการบูชาพระองค์ไปหมดสิ้น พญามารเห็นเช่นได้ จึงกล่าวว่าอ้างว่า บัลลังก์ที่พระองค์ประทับอยู่นั้นเป็นของตน โดยอ้างเสนามารเป็นพยาน พระองค์จึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาชี้ลงไปที่แม่พระธรณีเป็นพยาน
ด้วยพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทานต่าง ๆ เป็นทานบารมี และได้หลั่งน้ำทักษิโณทกลงบนพื้นธรณีทุกครั้งในการให้ทาน พระแม่ธรณีชื่อ “วสุนธรา” จึงปรากฏขึ้นมาบีบมวยผม บันดาลให้กระแสน้ำไหลบ่ามาอย่างแรง ท่วมกองทัพพญามารช้างจนพ่ายแพ้ไปในที่สุด พุทธประวัติตอนทรงมีชัยต่อพญามาร ถือเป็นนิมิตอันประเสริฐ จึงมีผู้นำมาใช้เป็นพุทธลักษณะ เรียกว่า“ปางมารวิชัย” หรือ “ปางผจญมาร”
จากพุทธประวัติข้างต้น พระพุทธรูปปางนี้จึงอยู่ในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลาหรือตัก แสดงถึงภาวะที่กำลังบำเพ็ญสมาธิอยู่ พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุหรือเข่า เป็นสัญลักษณ์ถึงการเรียกพระแม่ธรณีน้ำจากมวยผมก็คือน้ำที่พระองค์ทรงหลั่งลงดินทุกครั้งที่บำเพ็ญบารมีนั่นเอง
เรียบเรียงจาก
พระพุทธศาสนาในเอเซีย, พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), จัดพิมพ์โดยธรรมสภา , พ.ศ. ๒๕๔๐ น. ๑๔๗สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๙ / เรื่องที่ ๒ พระพุทธรูป / พระพุทธรูปในศิลปะไทยสมัยต่างๆ
http://www.history.mbu.ac.th/buddhism, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
---------------------------------------------------------------------------------
[1] พระแท่นที่พ่อขุนรามคำแหงโปรด ฯ ให้สร้างขึ้นไว้ที่กลางดงตาลแห่งหนึ่ง ในกำแพงกรุงสุโขทัย
[2] พระสวามี หรือมหาสามี หมายถึงพระที่อาวุโสมาก