สมเด็จพระบิดา

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระราชบิดา)

  จอมพลเรือ มหาอำมาตย์ตรี นายพันเอก นายกองเอกเสือป่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10)

  พระองค์ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณ สุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า “กรมหลวงสงขลานครินทร์” หรือ “พระราชบิดา” และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า “เจ้าฟ้าทหารเรือ” และ “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า “เจ้าฟ้ามหิดล”

  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น 3 ค่ำ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 (ก่อน พ.ศ. 2484 วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับวันที่ 1 เม.ย. ดังนั้น เดือนมกราคม พ.ศ. 2434 ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพยังคงนับตามปฏิทินเก่า เมื่อเทียบกับปฏิทินสากลที่ใช้ในปัจจุบันจึงตรงกับ เดือนมกราคม พ.ศ. 2435)

จากนักเรียนทหารสู่การเป็นนักเรียนแพทย์

  เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ได้รับการถวายพระอักษรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มากที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 และทรงเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษที่ “โรงเรียนแฮร์โรว์” (Harrow) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ. 2450 ได้ย้ายไปศึกษาต่อวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพอทสดัม (Potsdam) ประเทศเยอรมนี และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรสลิชเตอร์เฟลเด้ (Gross Lichterfelde) เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

  หลังจากนั้น พระองค์ได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาทหารเรือ เนื่องจากกองทัพสยามในสมัยนั้นยังขาดแคลนนายทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก พระองค์เข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟลนส์บูร์ก มุรวิก (Marineschule Flensburg Mürwik) สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรด้วยผลการศึกษาขั้นดีเยี่ยมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และทรงเข้ารับราชการในกองทัพเยอรมัน ได้รับพระราชอิสริยยศเป็นนายเรือตรีแห่งราชนาวีเยอรมัน จากสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี และนายเรือตรีแห่งราชนาวีสยาม ทรงได้รับพระราชอิสริยยศเป็นนายนาวาเอกและนายพันเอกทหารบก จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

  หลังนิวัตกลับประเทศไทย ได้เข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ แต่ภายหลังลาออกเพื่อไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2460 ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุขและปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคมเกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ อัลฟา โอเมกา อัลฟา ด้วย ทั้งยังทรงเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย  กระทรวงศึกษาธิการ  ข้าหลวงตรวจการศึกษาทั่วไป นายกกรรมการคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล กรรมการสภากาชาดสยาม ประธานกรรมการอำนวยการวชิรพยาบาล พระอาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

  ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พระองค์เช่าอะพาร์ตเมนต์และมีคนใช้จำนวน 1 คน พระองค์ใช้พระนามว่า มิสเตอร์มหิดล สงขลา ซึ่งนายแพทย์แอลเลอร์ เอลลิส (A.G. Ellis) ได้กล่าวถึงพระองค์ขณะที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไว้ว่า

  ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ทรงเป็นเพียงนักเรียนแพทย์ผู้หนึ่งที่ไม่ใช่เจ้านาย ในพระนามบัตรก็มีว่า “มิสเตอร์มหิดล สงขลา” ในเวลาที่ประทับอยู่ในประเทศที่ไม่มีเจ้านาย พระองค์ท่านก็ไม่ใช่เจ้านาย เราถือว่าการที่วางพระองค์เช่นนี้ เป็นการให้เกียรติยศอันแท้จริงแก่ประเทศของเราและสมกับพระลักษณะของการเป็นเจ้านายที่แท้จริง

                      ศาสตราจารย์อุปการคุณ นายแพทย์แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส

พบรักกับคู่ชีวิต

  เมื่อครั้งทรงศึกษาต่อด้านการสาธารณสุขอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงได้พบกับ สมเด็จย่า  หรือขณะนั้นคือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ และได้ทรงเลือกหญิงสามัญชนผู้นี้เป็นคู่ชีวิตในเวลาต่อมา

  พระองค์ท่านได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมราชชนนี คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระดำรัสตอนหนึ่งที่ลึกซึ้งกินใจ แสดงถึงความมั่นพระทัยในคุณงามความดีของนางสาวสังวาลย์ผู้ซึ่งจะทรงร่วมชีวิตด้วยว่า     

  “สังวาลย์เป็นกำพร้า แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง”

  ทรงอภิเษกสมรสกับ นางสาวสังวาลย์  ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ณ วังสระปทุม มีพระราชโอรสและพระธิดา รวม 3 พระองค์  ได้แก่

  1.สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  ประสูติ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466

  2.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชการที่ 8 )
  ทรงพระราชสมภพ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2468

  3.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช (รัชการที่ 9)
  ทรงพระราชสมภพ ณ เมืองแคมปริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470

  ยามเมื่อพระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศนั้น ทรงใช้พระนามว่า Mr. Mahidol Songkla ส่วนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีใช้พระนามว่า Mrs. Songkla ดังนั้น พระโอรสและพระธิดาของพระองค์จึงใช้นามสกุลว่า “สงขลา” เพียงเท่านั้น มิได้แสดงพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ และความเป็นเจ้านายแต่อย่างใด

หมอเจ้าฟ้า ผู้ทุ่มเทต่อวงการสาธารณสุขไทย

  ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์ พระวรกาย และพระสติกำลังเพื่อพัฒนาและวางรากฐานงานด้านสาธารณสุขในประเทศไทย พระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศไทย รวมถึงการพระราชทานพระราชทรัพย์ในการปรับปรุง ก่อสร้างตึกต่างๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช

  พระองค์ทรงเคยสำรวจสุขาภิบาลในกรุงเทพฯ เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ทรงศึกษามา ทรงช่วยอบรมสาธารณสุขมณฑล และเคยทรงปรารภว่าจะให้มีการเผาศพด้วยไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรสุขาภิบาล

  นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ เป็นต้นว่า พระราชทานทุน 1 แสนบาท เพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย จึงได้รับการถวายสมญานามว่า “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” พระราชทานทุนให้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เพื่อจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน พระราชทานเงินให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ และพระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสงขลาเป็นรายปี

  ด้วยการทุ่มเทในการทรงงานต่างๆ ทำให้พระวรกายทรุดโทรมลงไปมากจนทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. ด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อน คือ พระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้เพียง 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

สมเด็จพระบิดา(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!