สมเด็จย่า

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

จากสามัญชน สู่ “สมเด็จย่า” ผู้อยู่ในดวงใจของปวงชนชาวไทย

  เดิมที สมเด็จย่า เกิดในตระกูลช่างทอง โดยมีพระนามเดิมว่า ‘สังวาลย์’ (สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล) ก่อนที่พระชนนีจะนำพระองค์ไปถวายตัวเป็นข้าหลวงเมื่อมีพระชนมายุเพียง 7-8 พรรษา จึงได้ศึกษาที่โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนสตรีวิทยา และตัดสินพระทัยเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช จากนั้นยังได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนเพื่อคัดเลือกไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา อันเป็นเหตุให้ได้เข้าเฝ้าฯ เป็นครั้งแรกในฐานะนักเรียนทุนของพระราชมารดา จนกลายเป็นที่สนิทเสน่หาในเวลาต่อมา

  เมื่อวันที่ 10  มีนาคม ในปีพุทธศักราช 2461 มีหนังสือจากพระยาประภากรวงศ์ อัครราชทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตันดีซี กราบทูลถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแจ้งข่าวการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ที่จะทรงเลือกนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ในเวลานั้นเป็นคู่ชีวิต มีเนื้อความว่า

  “บัดนี้ พระองค์ท่านได้ชอบรักกันโดยเที่ยงธรรมกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ นักเรียนของสมเด็จพระ  พระบรมราชเทวี ซึ่งได้ออกมาศึกษาวิชาแพทย์พร้อมกับพระยาชนินทร์ภักดีที่สหรัฐอเมริกา เมื่อศก 2460 และเวลานี้อายุประมาณ 18 ปี แต่ยังไม่ทรงคิดจะแต่งงานจนกว่านางสาวสังวาลย์จะได้เล่าเรียนอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีกปีเศษ

  ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้าฯ ดังนี้แล้ว ได้ไปเฝ้าท่านที่เมืองบอสตัน เพื่อเป็นโอกาสจะได้กราบทูลถามความละเอียดต่อไป ก็มีความยินดีที่ได้ฟังรับสั่งว่า พระองค์ท่านแน่พระทัยในความดีของนางสาวสังวาลย์ ว่าเป็นผู้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ วิชาความรู้ ความสามารถ เฉลียวฉลาด ต้องพระทัยทุกอย่าง ทรงหวังว่าจะเป็นผู้ค้ำชูพระเกียรติไม่ผิดไปต่อพระราชนิยมได้ แม้หากว่าจะขาดอยู่เพียงพระยศ แต่เมื่อมีความดีแล้ว ยศก็ย่อมเป็นของที่ควรยกขึ้นได้ภายหลัง...”

  ในเวลาต่อมาทั้งสองพระองค์ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม และหลังจากได้อภิเษกสมรสแล้ว ก็ได้ตามเสด็จด้วยกันไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน และได้ทรงให้กำเนิดพระมหากษัตริย์ไทยอันเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยถึงสองพระองค์

  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเติบโตขึ้นมาในตระกูลช่างทอง ในละแวกวัดอนงคาราม บ้านที่อาศัยเป็นเพียงห้องแถวเล็กๆ เท่านั้น ในหนังสือ แม่เล่าให้ฟัง พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา ได้บรรยายถึงบ้านของสมเด็จย่าเอาไว้ว่า

  “ข้างหน้าบ้านมีพื้นระเบียง พื้นเป็นไม้ปิดข้างๆ และมีหลังคามุงจาก ส่วนนอกก่อนถึงถนนเป็นอิฐ แล้วจึงเป็นถนน เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วจะมีห้องโล่งๆ ด้านขวายกพื้นซึ่งเป็นทั้งห้องพระและห้องประกอบอาชีพของพ่อแม่ ทุกเช้าผู้ใหญ่จะถวายข้าวพระพุทธรูป และหลังเที่ยงแม่จะเป็นผู้สวดลาของถวายและนำอาหารที่บรรจุอยู่ในถ้วยชามเล็กๆ มากิน ถัดไปมีห้องซึ่งเป็นห้องนอน และข้างหลังจะมีห้องครัวยาวตลอดซึ่งกั้นด้วยกำแพง หลังกำแพงนี้ มีที่โล่งๆ ซึ่งจะไปถึงได้ ถ้าอ้อมไป เพราะทางครัวไม่มีประตูออก ในบ้านไม่มีห้องน้ำ การอาบน้ำนั้น อาบกันที่ตุ่มน้ำตั้งอยู่ที่ระเบียง หรือไปอาบที่คลองสมเด็จเจ้าพระยาเลย สำหรับส้วมนั้นก็ไม่มีในบ้าน ต้องไปที่ตึกร้างซึ่งอยู่ถัด บ้าน ไป หรือที่ห้องน้ำสาธารณะซึ่งเป็นกระต๊อบไม้บนคลอง”

  พระชนนีคำ พระมารดาของสมเด็จย่า เป็นครูคนแรกที่สอนให้พระองค์ทรงอ่านหนังสือออก และสนับสนุนให้พระองค์ทรงได้รับการศึกษา จนกระทั่งในที่สุดทรงได้รับทุนการศึกษา ได้ไปศึกษาต่อถึงต่างประเทศทางด้านการพยาบาลและได้ทรงพบรักกับ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

พระโอรสและพระธิดาของพระองค์

  ภาพพระโอรสและพระธิดาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดูแลเอาใจใส่ พระราชชนนี เป็นภาพชินตาของเหล่าข้าราชบริพารทั้งหลาย ทุกพระองค์จะทรงเรียกพระราชชนนีอย่างธรรมดาว่า “แม่” เมื่อครั้งที่สมเด็จย่าเสด็จแปรพระราชฐานยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็จะมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงดูแลอย่างใกล้ชิด ทรงปรนนิบัติพระราชชนนีด้วยพระองค์เองเสมอ ทรงมีความผูกพันกับพระราชชนนีอย่างมาก ทรงนิพนธ์หนังสือที่เป็นเรื่องราวจากคำบอกเล่าของพระราชชนนีซึ่งเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ของหน้าหนึ่งของไทยอย่าง “แม่เล่าให้ฟัง”  บอกเล่าเรื่องราวอันน่าประทับใจของพระบรมราชชนก พระบรมราชชนนี และพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยถึง 2 พระองค์

  ไม่เพียงแต่พระธิดาที่ทรงดูแลพระองค์อย่างใกล้ชิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 พระโอรส ที่ถึงแม้จะทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายเพียงใด แต่ก็จะเสด็จพระราชดำเนินจากวังสวนจิตรฯ ไปยังวังสระปทุมในตอนเย็น เพื่อเสวยพระกระยาหารค่ำกับสมเด็จพระราชชนนีเป็นการส่วนพระองค์อย่างสม่ำเสมอ มีรับสั่งกับข้าราชบริพารว่า“ไปกินข้าวกับแม่ ไปคุยกับแม่ ไปทำให้แม่ชุ่มชื่นหัวใจ”  ในระหว่างที่สมเด็จย่าพระประชวร ในหลวงจะเสด็จไปประทับกับพระราชมารดาที่โรงพยาบาลศิริราชวันละหลายชั่วโมง เพื่อทรงเป็นกำลังพระราชหฤทัย แสดงถึงความกตัญญูของลูกต่อผู้เป็นแม่อย่างหาที่สุดมิได้

ทรงเห็นเวลาเป็นของมีค่า

  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงไม่เคยปล่อยเวลาให้ล่วงไปอย่างเปล่าประโยชน์ ทรงใช้เวลาอย่างรู้คุณค่า ทำประโยชน์ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่นอยู่เสมอ หากทรงว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจแล้ว มักจะทรงใช้เวลาไปกับงานอดิเรกต่างๆ โดยที่งานอดิเรกนั้น ท้ายที่สุดก็จะถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นทั้งสิ่งของที่ทรงใช้ส่วนพระองค์ สำหรับพระราชทาน พระโอรส พระธิดา พระนัดดา ตลอดจนข้าราชบริพารและบุคคลทั่วไปในโอกาสอันควร และยังทรงให้สำหรับจำหน่ายหรือพระราชทานแก่ผู้มาขอพระราชทานไปจำหน่ายเพื่อหารายได้บำรุงกิจการกุศลต่างๆ เป็นจำนวนมาก

  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบรรยายถึงพระคุณสมบัติอันประเสริฐนี้ของสมเด็จพระบรมราชชนนี ไว้ในคำปรารภ พระนิพนธ์ เรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า” ตอนหนึ่งว่า

  “เวลาแม่อยู่โลซาน แม่จะตื่นเช้ากว่าเมืองไทย และจะมีเวลาทำงานอดิเรกประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนอาหารกลางวัน และตอนบ่ายก่อนออกกำลัง โดยปกติระหว่างอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์แม่จะสามารถปั้นพระพุทธรูป 3-4 องค์และถ้วยหรือที่เขี่ยบุหรี่ประมาณ 2-3  ชิ้น ทำของขวัญ เช่น ผ้าจับของร้อน ตามจำนวนแม่ครัว...”

ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาหาความรู้

  สมเด็จย่าทรงมีพระอุปนิสัยช่างคิดมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์เป็นผู้มีความสนใจใฝ่รู้ในเรื่องต่างๆ พระชนนีคำก็ได้สอนการอ่านหนังสือ และสนับสนุนให้พระองค์ได้ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน และนับตั้งแต่ได้ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชชนก ผู้ซึ่งทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาและอุทิศพระองค์เพื่อสาธารณประโยชน์มาโดยตลอด ทำให้สมเด็จย่าได้ทรงซึมซับพระอุปนิสัยที่จะศึกษาหาความรู้ด่านต่างๆ เพื่อที่จะทรงนำมาทำประโยชน์ให้แก่สาธารณชนเช่นกัน ทรงผูกพันอยู่กับการศึกษาและการเล่าเรียนจวบจนกระทั่งบั้นปลายพระชนม์ชีพ

  แม้แต่ในการอภิบาลพระโอรสและพระธิดาของพระองค์ สมเด็จย่าได้ทรงปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้และใฝ่ศึกษาอยู่เสมอตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงสอนให้เล่นให้เกิดความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ การเล่นขุดคลองนำน้ำมาไหลในคลอง ซึ่งมีผู้กล่าวว่า นี่เองที่เป็นสัมผัสแรกของงานชลประทาน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดและมีพระปรีชาในด้านนี้ บางคราวก็ทรงเล่นทราย เล่นเป็นช่างไม้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเล่นที่ทำให้พระโอรสและพระธิดาของพระองค์ได้สนุกพร้อมๆ กับการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวไปด้วย

  สมเด็จย่าโปรดการอ่านหนังสือปรัชญาตะวันตกที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ถูกต้อง เมื่อทรงอ่านหนังสือเล่มใด หากทรงพบข้อความใดที่ต้องพระราชหฤทัย ไม่ว่าจะทรงเห็นด้วยหรือไม่ จะทรงขีดเส้นใต้ไว้ด้วยดินสอแดง ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาพระพุทธศาสนา ทรงอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาหลายเล่มโดยไม่ทรงเชื่อหรือปฏิบัติตามทันที แต่ทรงยึดหลักเหตุผลใคร่ครวญพิจารณาว่าคำสอนนั้นๆ ถูกต้องมีเหตุผลแล้วจึงปฏิบัติตาม และทรงเป็นผู้นำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาเป็นคติในการดำเนินพระชนม์ชีพและในการแนะนำช่วยเหลือผู้อื่นต่อมา

ทรงโปรดความธรรมดาและเรียบง่ายอย่างสามัญ

  เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชบริพารและผู้ใกล้ชิดว่าสมเด็จย่า ทรงมีพระอุปนิสัยในการโปรดที่จะทรงงานเอง เมื่อครั้งที่ทรงประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงตัดแต่งต้นไม้เอง เสด็จไปตลาดเอง ทรงจ่ายของเอง ทรงทำงานบ้านเอง ซึ่งมีรับสั่งว่า การได้ทำงานคือการได้ออกกำลังกาย มีเรื่องเล่าอันน่าประทับใจจากผู้ใกล้ชิดพระองค์ว่า จะทรงงานอยู่ตลอด ทรงอยู่อย่างได้ประโยชน์ เวลาทรงงานจะทรงลงไปจับทำเองไม่ทรงเรียกให้ใครช่วย สุดแล้วแต่ใครจะมีน้ำใจไปช่วยเอง ที่วิลล่าวัฒนา มีสวนผลไม้ บางชนิดจะทรงเก็บมาดองหรือทำแยม ทรงทำความสะอาดห้องเก็บของด้วยพระองค์เอง ไม่ทรงเรียกใช้ใครเลย ท่านไม่ทรงชี้นิ้วสั่งงาน นอกจากนี้ ยังทรงฝึกหัดให้พระโอรสธิดา ทรงทำงานต่างๆด้วยพระองค์เอง โดยกระทำองค์ให้เห็นเป็นแบบอย่าง และโปรดที่จะให้ทุกพระองค์มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ เหมือนเด็กธรรมดาสามัญ ทรงสอนให้มีความรู้สึกนึกคิดเป็นปุถุชน ไม่ให้หลงระเริงในสิ่งสมมติต่างๆ ทุกพระองค์จะทรงรู้จักทำความสะอาดที่ประทับของพระองค์เอง

  ด้วยเหตุนี้สมเด็จย่าจึงทรงโปรดการทำอาหารด้วยพระองค์เองด้วย และกิจกรรมที่ทรงอยู่เป็นประจำคือ การทำเครื่องเสวยถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะอาหารบอสตันที่ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสกับพระองค์ว่า“หาอาหารพื้นเมืองบอสตันเสวยได้ยากมาก”  หลังได้ทรงฟังพระราชปรารภแล้ว ก็ได้ทรงค้นหาตำราอาหารบอสตันที่พระองค์เคยทรงพระอักษรเก็บไว้ มาทำเครื่องเสวยเมนู บอสตันบราวน์เบรด ขนมปังอบสีน้ำตาล มีลักษณะตัดเป็นแผ่นกลมขนาดพอดีคำ และบอสตันเบคบีนส์ ถั่วขาวอบในมัสตาร์ด เนื้อหมู ปรุงด้วยโมลาสและน้ำตาล จากนั้น ทรงประกอบพระกระยาหารดังกล่าวถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างสม่ำเสมอ และมีรสชาติตามสูตรทุกครั้ง ระหว่างการตั้งเครื่องเสวยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงหมั่นบีบพระหัตถ์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีเพื่อให้พระโลหิตหมุนเวียนได้ดีขึ้น เป็นภาพประทับใจที่ผู้ถวายงานได้พบเห็นเป็นประจำ

  ครั้งหนึ่งในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จย่าทรงถวายเค้กช็อกโกแลตรูปกระต่าย และภาพปักฝีพระหัตถ์รูปกระต่าย อันเป็นนักษัตรประจำปีพระราชสมภพ ให้แก่พระราชโอรส พร้อมทรงหอมพระปรางอย่างอบอุ่น ยังความสุขและชื่นมื่นให้เกิดขึ้นทั่วทั้งพระตำหนัก

ทรงออกหน่วยแพทย์อาสา

  มูลนิธิ พอ.สว. มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่สมเด็จย่าได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนตำรวจตระเวนชายแดนตามจังหวัดชายแดน ในปี พ.ศ. 2507 พระองค์ได้ทรงพบเห็นความยากลำบากของราษฎรในการเดินทางมารักษายังโรงพยาบาลจังหวัดเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งใช้เวลาและเดินทางยากลำบาก บางครั้งต้องรอจนอาการหนัก จึงเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลจังหวัด บางครั้งอาการก็หนักเกินกว่าจะรักษา หรือบางครั้งเป็นโรคที่ไม่ได้หนักมาก แต่ไม่ได้รับการรักษา จนป่วยเรื้อรังจนต้องพิการทุพพลภาพ  ท่านจึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า

  “ฉันได้ไปเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนที่ปฏิบัติงานในป่าเขา เพื่อปกป้องและรักษาแผ่นดินเรา เขาเสี่ยงอันตรายหลายอย่าง รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บด้วย ชาวบ้านและชาวเขาที่อยู่ตามป่าดงเหล่านั้น ก็มีปัญหาเรื่องป่วยไข้ เช่นเดียวกัน เพราะอยู่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก หากพวกเราจะไปดูแลรักษาเขาบ้าง จะเป็นเดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง หรือแม้แต่สามเดือนครั้งก็ได้ จะได้ช่วยเหลือเขา เป็นประโยชน์มาก”

  และนี่ถือเป็นจุดกำเนิดของมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว. ที่นำคณะแพทย์และพยาบาลอาสา ออกปฏิบัติงานตรวจรักษาคนไข้ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

  ปัจจุบัน มูลนิธิ พอ.สว. มีทั้งหน่วยแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ และเภสัชกรอาสาและอาสาสมัครที่จะเข้าปฏิบัติงานยังท้องที่ห่างไกล การเดินทางเข้าถึงยากลำบากมาก ส่วนมากต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นยานพาหนะหลักในการออกปฏิบัติงาน โดยอาสาสมัคร พอ.สว.ทุกคนจะสวมเสื้อสีเทา กระเป๋าเสื้อสีเขียว มีเครื่องหมายของหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประชาชนจะเรียกขานอาสาสมัครเหล่านี้ว่า“หมอกระเป๋าเขียว”  ครั้งหนึ่ง สมเด็จย่า ได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงหน่วยแพทย์ พอ.สว. มีใจความตอนหนึ่งว่า

  “ ทุกคนตั้งใจทำงานกันดีและสามัคคีกัน แต่ทุกอย่างที่ พอ.สว. ทำมานี้ ไม่ได้อะไรเป็นวัตถุ แต่ได้สิ่งที่เป็นกุศล เมื่อได้สิ่งที่เป็นกุศล ฉันก็เชื่อว่าจะทำให้ทุกๆท่านพอใจ สบายใจ การที่จิตใจสบาย ฉันก็เชื่อว่าทำให้ร่างกายสบายด้วย ที่ฉันทำไปและได้ประโยชน์ก็เพราะท่านทุกคนได้มีส่วนช่วยเป็นอันมาก

  ลำพังฉันก็ไม่อาจจะช่วยเหลือเขาได้ทั้งหมด ดังนั้น การทำงาน พอ.สว. นี้ ก็อย่าไปคิดว่าทำเพื่อฉัน ขอให้ทำเพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยที่อยู่ห่างไกล ช่วยด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ช่วยให้เขาได้คลายจากความทุกข์ได้บ้าง ”

  หลังจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงรับเป็นองค์ประธาน มูลนิธิ เพื่อสืบต่อพระราชภารกิจของพระชนนี

  เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิ พอ.สว. เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการบำบัดทุกบำรุงสุขแก่ราษฎรด้านการแพทย์และสาธารณสุขสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จย่า (PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!