หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

ปราชญ์สี่แผ่นดิน

  ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ นับเป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย เกิดในปี พ.ศ. 2454 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นบุตรคนสุดท้องของพลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง ปราโมช ชื่อ คึกฤทธิ์ นั้น เป็นชื่อที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีพระราชทานให้

  ในเยาว์วัย ท่านเป็นเด็กช่างคิดและรักการอ่านหนังสืออย่างมาก ท่านเริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้านกับ ม.ร.ว.บุญรับ พี่สาวคนโต จนอ่านภาษาไทยได้ตั้งแต่อายุ 4 ปี กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2458 ท่านจึงเข้าศึกษาภาคบังคับ ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (วังหลัง) จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนเทรนต์วิทยาลัย (Trent College) จากนั้นสอบเข้าวิทยาลัยควีนส์ (The Queen's College) มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เพื่อศึกษาวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง (Philosophy, Politics and Economics) โดยสำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม และอีกสามปีต่อมา ก็สำเร็จปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

  ท่านเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เคยเป็นทหารออกศึกเมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้เข้ารับราชการทหารและได้รับยศ “นายสิบตรี” ต่อมาได้ลาออกจากราชการเพื่อทำงานที่ธนาคารสยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) ลำปาง ต่อจากนั้นเมื่อรัฐบาลได้ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย จึงย้ายกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร และรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2486

  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังได้เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ระหว่างปี พ.ศ. 2485-พ.ศ. 2490 โดยสอนวิชาการธนาคาร ในระดับชั้นปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ และวิชาการธนาคารของการศึกษาเพื่อรับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี รวมทั้งสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชย์และการบัญชี ในปี พ.ศ.2485-พ.ศ.2495 และสอนในคณะรัฐศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2491-พ.ศ. 2494

  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยเป็นผู้ก่อตั้ง “พรรคก้าวหน้า” ซึ่งถือได้ว่าเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกในประเทศไทย เป็นบุคคลแรกๆ ที่ได้นำวิธีการหาเสียงที่เรียกว่าไฮด์ปาร์ก หรือ การอภิปรายในที่สาธารณะมาใช้ในประเทศไทย จนทำให้ท่านได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของเขตดุสิต จังหวัดพระนครในอดีต หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

  ต่อมาเกิดความขัดแย้งภายในพรรคก้าวหน้า ท่านจึงยุบพรรคและได้เข้าร่วมกับนายควง อภัยวงศ์ ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล มีนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วน ม.ร.ว คึกฤทธิ์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนกระทั่ง จอมพล ป.พิบูลสงครามได้กระทำรัฐประหาร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีความไม่เห็นด้วยบางประการกับรัฐบาลในยุคนั้น ท่านจึงตัดสินใจลาออกและยุติบทบาทนักการเมืองในช่วงแรกไป

  ถึงแม้บทบาทของนักการเมืองจะยุติลง แต่บทบาทของนักหนังสือพิมพ์ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐขึ้น ในปี พ.ศ. 2493 ท่านได้เริ่มต้นชีวิตนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์อย่างเต็มตัว แต่ความจริงแล้วท่านได้เริ่มต้นการประพันธ์ โดยการเขียนบทสักวา บทความ และสารคดี ลงในหนังสือพิมพ์ “เกียรติศักดิ์”  เป็นประจำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 ในช่วงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เรียกได้ว่ามีความสามารถรอบด้าน มีผลงานทางวรรณศิลป์ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากกว่า 200 เรื่อง ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และเรื่องแปล บางเรื่องได้รับการตีพิมพ์หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายชื่อดังอย่าง สี่แผ่นดิน ไผ่แดง หลายชีวิต ซูสีไทเฮา ราโชมอน และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. 2528

  ในระหว่างที่ทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ท่านก็ได้ทำหน้าที่ทางการเมืองไปด้วยพร้อมกัน ทั้งการเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม ในปี พ.ศ. 2517 ซึ่งได้รับเลือกตั้ง และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ 13 ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลทั้งที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในมือเพียง 18 คน

  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นตำแหน่งที่จะต้องเปลี่ยนความนึกคิดของประชาชนเสียใหม่ว่า ไม่ใช่ตำแหน่งใหญ่โต แต่ว่าเป็นตำแหน่งขี้ข้าประชาชน”

  ในขณะที่เป็นรัฐบาลนั้น รัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีนโยบายสำคัญหลายนโยบายด้วยกัน เช่น นโยบายรถประจำทางฟรี นโยบายประกันราคาพืชผล นโยบายเงินผันที่จัดสรรงบประมาณให้แต่ละตำบลได้สร้างงานในช่วงฤดูแล้ง

  ในขณะที่บริหารประเทศนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สร้างเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักกันดี นั่นคือ การเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหาคอมมิวนิสต์คุกคาม โดยเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2518 ตามนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างปกติ และเป็นมิตรกับทุกประเทศที่มีเจตนาดีต่อประเทศไทย โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบาย ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และเป็นเชื้อพระวงศ์ในบรมราชสกุลจักรีวงศ์คนแรก ที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การปกครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้รับเกียรติให้พบกับบุคคลสำคัญของประเทศจีนอย่างประธานเหมา เจ๋อตุง, เติ้ง เสี่ยวผิง และนายกรัฐมนตรีจีน โจว เอินไหล

  ก่อนหน้าที่ท่านจะไปพบ เหมา เจ๋อตุง หนังสือพิมพ์ฮ่องกงได้ถามท่านว่า “รัฐบาลไทยไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยมากมาย เหตุใดท่านจึงได้มาผูกสัมพันธ์กับประเทศจีนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์”  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ตอบนักข่าวไปว่า

  ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น เป็นเรื่องของพรรคการเมือง แต่การไปผูกไมตรีกับจีน เป็นเรื่องของรัฐบาลต่อรัฐบาล ไม่ได้คำนึงถึงพรรค ไม่ได้คำนึงถึงลัทธิ ท่านมาประเทศจีนด้วยไมตรี ประเทศไทยกับประเทศจีนเป็นมิตรกันมาช้านานเป็นเวลาหลายพันปี มีเหตุการณ์บางอย่างทำให้ไมตรีสะดุดหยุดลง และท่านจะมาขอเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีนั้นใหม่อีกครั้ง”

  ซึ่งเป็นคำตอบที่ท่าน เหมา เจ๋อตุง พึงพอใจและกล่าวชื่นชม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่าท่านพูดเก่ง และพูดได้ดี และการพบปะกันครั้งนั้นก็เป็นเสมือนการเปิดม่านไม้ไผ่ครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของความสัมพันธ์ไทยจีน ที่ส่งผลทางการทูตระหว่างไทยและจีนมาถึงปัจจุบัน

  ระหว่างการเล่นการเมือง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีบุคลิกที่โดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง และที่ทุกคนรู้จักดี การเป็นคนที่มีวาทศิลป์ และบทบาทเป็นที่ชวนให้จดจำ เช่น การผวนพูดเล่นชื่อของตัวเองเมื่อมีผู้ถามว่า หมายถึงอะไร โดยตอบว่า “คึกฤทธิ์ ก็คือ คิดลึก”  เป็นต้น ได้รับฉายาจากนักการเมืองและสื่อมวลชนมากมาย เช่น “เฒ่าสารพัดพิษ” “ซือแป๋ซอยสวนพลู”  ซอยสวนพลูก็คือ บ้านพักในซอยพระพินิจซึ่งเป็นซอยย่อย อยู่ในซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ เขตสาทรนั่นเอง และภายหลังเมื่อมีอาวุโสสูงวัยจนสามารถแสดงความเห็นทางการเมืองได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ จึงได้รับฉายาว่า “เสาหลักประชาธิปไตย”

  ปลายปี พ.ศ. 2528 ท่านได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งถือเป็นการวางมือทางการเมือง ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับตั้งแต่นั้นมา

  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา ในปลายปี พ.ศ. 2538 สิริรวมอายุ 84 ปี

  องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล พ.ศ. 2554

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!