โฮจิมินห์

โฮจิมินต์ รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม

โฮจิมินห์ ( H Chí Minh ) แปลว่า “แสงสว่างที่นำทาง”

  เขา คือ นักปฏิวัติชาวเวียดนาม ผู้มีคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อประเทศเวียดนาม ในฐานะผู้ปลดแอกประเทศจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวจากการรุกรานจากสหรัฐอเมริกา วางรากฐานเวียดนามยุคใหม่ จนเจริญก้าวหน้าดังเช่นทุกวันนี้

  เขา คือ ปูชนียบุคคลผู้เป็นที่เคารพรักของชาวเวียดนามทั้งในและนอกประเทศ มาตั้งแต่ยุคสร้างชาติ จวบถึงปัจจุบัน

  โฮจิมินห์ มีนามเดิมภาษาเวียดนามว่า “เหงวียน ซิญ กุง” (Nguyễn Sinh Cung)  เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 ที่หมู่บ้านฮหว่างจู่ จังหวัดเหงะอาน ตอนบนของเวียดนาม เป็นบุตรชายของ เหงวียน ซิญ ซัก ปัญญาชนชาวเวียดนาม

  เขาเกิดมาในช่วงที่เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศส เติบโตมาในครอบครัวที่มีแนวคิดต่อต้านการกดขี่อย่างรุนแรงจากเจ้าอาณานิคม บิดาเป็นข้าราชสำนักเวียดนามที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศเนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของฝรั่งเศส ที่ในขณะนั้นชักใยอยู่เบื้องหลังพระจักรพรรดิ เขาจึงเสมือนตกอยู่ในสองวัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมตะวันตกของฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ปกครอง และวัฒนธรรมตะวันออกแบบจีนลัทธิขงจื๊อ อันเป็นวัฒนธรรมของเวียดนาม

  โฮจิมินห์ ได้สัมผัสกับการเมืองเป็นครั้งแรก จากการเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสให้กับชาวนาที่ถูกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกดขี่ ในช่วงนี้เองที่เขาได้สัมผัสการกดขี่และความอยุติธรรม รวมถึงการได้เห็นชาวนาถูกยิงตายต่อหน้าต่อตา

  ต่อมา โฮจิมินห์ รู้ตัวว่า ตนเองต้องได้รับการศึกษาที่มากขึ้นและออกไปท่องโลกกว้างเพื่อเปิดโลกทัศน์ของตน ในปี พ.ศ. 2454 จึงได้ย้ายจากเวียดนามไปเป็นพ่อครัวในประเทศฝรั่งเศส ด้วยการสมัครเป็นลูกเรือบนเรือเดินสมุทรของฝรั่งเศส และได้ศึกษาเรียนต่อที่นั่น โดยใช้ชื่อว่า เหงวียน อ๊าย โกว๊ก ซึ่งแปลว่า “เหงวียนผู้รักชาติ”

   ที่นั่น...โฮจิมินห์ ได้ติดต่อกับชาวเวียดนามในฝรั่งเศส เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องอิสรภาพจากชาติมหาอำนาจตะวันตกหลายชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ ในฐานะโฆษกของกลุ่ม เขาพยายามจะยื่นหนังสือต่อประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางมายังฝรั่งเศสเพื่อลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ทว่าก็ได้รับการรังเกียจและถูกกีดกันออกมา

  ต่อมา โฮจิมินห์ ก็ได้ย้ายจากฝรั่งเศสไปสหรัฐอเมริกาและอังกฤษตามลำดับ หลังจากนั้นก็ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังได้เดินทางไปรัสเซียเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์เผยแพร่การปฏิวัติของเลนิน และเริ่มต้นปลุกระดมชาวเวียดนามผลัดถิ่นในจีน เพื่อต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส

“ลุงโฮ” ในเมืองไทย

  เมื่อรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คเริ่มการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในจีน โฮจิมินห์ได้หลบหนีจากจีนมายังจังหวัดนครพนม ประเทศไทย โดยได้บวชเป็นพระภิกษุ ทำการสอนลัทธิสังคมนิยมให้ชาวไทย โดยใช้ชื่อว่า “ลุงโฮ”

  ช่วงแรกที่หลบหนีในประเทศไทยนั้น เขาได้ขึ้นเรือที่ท่าน้ำเอสบี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมแม่น้ำ) ไปยังจังหวัดพิจิตร จากนั้นได้เดินทางไปต่อยังจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย โดยใช้ชื่อว่า “เฒ่าจิ๋น” ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2466 ไปจนถึง พ.ศ. 2474 ท่านได้พำนักอยู่ ณ บ้านของนายเตียว เหงี่ยนวัน เลขที่ 48 หมู่ที่ 5 บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม รวมเวลาพำนักอยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น 7 ปี และห้องที่จัดแสดงหุ่นจำลองของท่าน ก็จำลองมาจากบ้านของท่านขณะพำนักอยู่ในประเทศไทยนั่นเอง

  ในระยะนั้น โฮจิมินห์ ต้องเดินทางไปหลบซ่อนในหลายประเทศ ใช้ชื่อปลอมหลายชื่อ ครั้งหนึ่ง โฮจิมินห์ ได้ถูกตำรวจฮ่องกงจับโดยไม่มีความผิด ถูกขังคุกนานเป็นระยะเวลานาน 1 ปีเต็ม ในช่วงนี้ โฮจิมินห์ มีสภาพร่างกายย่ำแย่มาก เป็นโรคขาดสารอาหาร แต่สุดท้ายก็ได้รับการช่วยเหลือให้พ้นออกมาจากเพื่อนเก่าในสมาคมชาวเวียดนามในฝรั่งเศส รวมถึงเชื่อกันว่า โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งเป็นสหายที่ดีต่อโฮจิมินห์ ก็มีส่วนในการให้ความช่วยเหลือครั้งนั้นด้วย

ผู้นำแสงสว่างสู่เวียดนาม...มาตุภูมิแผ่นดินเกิด

  โฮจิมินห์ เดินทางกลับมาเวียดนามอีกครั้งในปี พ.ศ. 2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสในขณะนั้นถูกนาซีเยอรมนีบุกยึดครอง และกลายสภาพเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดให้แก่นาซีเยอรมนี และรับนโยบายในการปกครองเวียดนามจากนาซีเป็นหลัก โฮจิมินห์ จึงสบโอกาสรวบรวมชาวเวียดนามส่วนใหญ่ โดยก่อตั้ง “ขบวนการเวียดมินห์” หรือ “ขบวนการปลดปล่อยประชาชาติเวียดนาม”  ขึ้น เตรียมแผนที่จะประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสให้ประชาชนชาวเวียดนามภายใต้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น

  ชาวเวียดนามในขณะนั้นยังไม่มีการศึกษา และส่วนใหญ่อดอยากยากจน โฮจิมินห์ ได้เข้าถึงตัวชาวบ้านระดับล่าง ด้วยการทำตัวกลมกลืนผูกมิตรไปกับชาวบ้าน ได้พูดคุยและทำความเข้าใจกันอย่างง่ายๆ และเพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการบอกแบบปากต่อปาก

  และในตอนนี้เองที่เขาเริ่มให้นามว่า “โฮจิมินห์” ซึ่งหมายถึง ผู้นำแสงสว่างมาสู่เวียดนาม”

  ในที่สุด โฮจิมินห์ ประกาศจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามหลังจากจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย จักรพรรดิเวียดนามพระองค์สุดท้ายประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 โฮจิมินห์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามหรือเวียดนามเหนือ เป็นคนแรก ด้วยการประกาศแถลงการณ์ที่จัตุรัสบาดิ่ญ ซึ่งเริ่มต้นด้วยประโยคแบบเดียวกับประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับ และพยายามขับไล่รัฐบาลของโฮจิมินห์ จนนำไปสู่สงครามอีกครั้ง

  ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 เวียดนามก็ได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อกองกำลังเวียดมินห์ ในยุทธการที่สมรภูมิเดียนเบียนฟู ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ สูญเสียอำนาจทางทหารในเวียดนามไปจนหมด

  แม้จะเป็นประธานาธิบดีแล้ว โฮจิมินห์ ก็ปฏิเสธที่จะพำนักในจวนข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสซึ่งโอ่โถง แต่ขออาศัยอยู่ในบ้านพักหลังเล็กๆ เท่านั้น

การต่อสู้เพื่อเอกราชที่ยังไม่สิ้นสุดลง

  ชาวเวียดนามได้เสพความหอมหวานแห่งอิสรภาพของบ้านเกิดเมืองนอนตนเองไม่ทันเต็มอิ่ม...ในปี พ.ศ. 2502 กองทัพสหรัฐเข้ามาแทนที่ฝรั่งเศส เกิด “สงครามเวียดนาม” หรืออีกชื่อคือ “สงครามอินโดจีนครั้งที่ 2”  และสำหรับชาวเวียดนาม พวกเขาเรียกว่า “สงครามอเมริกัน” (ปี 1954 –1975) แบ่งแยกเวียดนามออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองของสองขั้วอำนาจโลกในยุคสงครามเย็น กล่าวคือ เวียดนามเหนือซึ่งมีความโอนเอียงไปทางพรรคคอมมิวนิสต์ ได้รับการสนับสนุนจากจีน และโซเวียต ส่วนอเมริกาเข้ามาให้ความช่วยเหลือเวียดนามใต้

  สงครามยืดเยื้อยาวนานกว่าสิบปี ผู้คนล้มตายมากมาย และจบลงพร้อมกับความพ่ายแพ้ของอเมริกา ในปี พ.ศ. 2516 กองทหารสหรัฐอเมริกากลุ่มสุดท้ายได้ถอนกำลังออกจากเวียดนามใต้ ทว่าสงครามเวียดนามยังดำเนินต่อมาอีก 2 ปี จนกระทั่งกองทัพเวียดนามเหนือและกองกำลังเวียดกงยกพลเข้ายึดกรุงไซง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ ได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 สงครามเวียดนามก็สิ้นสุดลง เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมเป็นหนึ่งเดียวได้ ขนานนามไซ่ง่อนใหม่ว่า “โฮจิมินห์ ซิตี้” เพื่อเป็นเกียรติให้แก่โฮจิมินห์ บิดาผู้ให้กำเนิดเวียดนาม จากสงครามและการกดขี่จากยุคอาณานิคม และเป็นผู้วางรากฐานระบบสังคมนิยมให้แก่เวียดนามสมัยใหม่ ที่เจริญก้าวหน้าดังเช่นทุกวันนี้

  โฮจิมินห์ ในขณะนั้นอยู่ในวัยชราแล้ว ได้ประกาศว่าลดบทบาททางการเมืองลงมา แม้จะยังคงได้รับความนับถือ อย่างสูงสุดอยู่เช่นเดิม และน่าเสียดายที่ โฮจิมินห์ มิได้อยู่ชื่นชมชัยชนะจากความพยายามในการรวมประเทศ ด้วยเหตุที่ว่าเขาเสียชีวิตอย่างสงบก่อนเวียดนามจะได้รับเอกราชที่แท้จริงจากการรุกรานของคนนอก เพียง 6 ปี  ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2512 ที่บ้านพักในฮานอย ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว สิริอายุได้ 79 ปี รัฐบาลเวียดนามจึงได้กำหนดให้วันเสียชีวิตของท่าน คือ 2 กันยายนของทุกปี เป็น “วันชาติของเวียดนาม”

  ในปี พ.ศ. 2530 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ลุงโฮเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยท่านเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง มุ่งมั่น และเป็นนักอุดมคติที่ไม่เคยมักใหญ่ใฝ่สูง ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ สวมเสื้อผ้าง่ายๆ อาศัยในบ้านไม้หลังเล็ก ใช้เวลาว่างวาดรูปและเขียนบทกวี อ่อนน้อมถ่อมตน แต่มั่นคงในอุดมการณ์ ไม่แปลกใจว่าทำไมชาวเวียดนามทั้งในประเทศและผลัดถิ่นจึงรักและศรัทธาโฮจิมินห์มาก

  ทุกวันนี้ชาวเวียดนามและคนจากทั่วโลกยังคงหลั่งไหลไปเคารพร่างของโฮจิมินห์ที่ถูกบรรจุในโลงแก้ว ที่จัตุรัสบาดิงห์ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์อย่างไม่ขาดสาย ในโรงเรียนก็ยังมีการปลูกฝังเรื่องราวของลุงโฮ ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งเวียดนาม”  ที่อยู่ในใจของพวกเขาไปชั่วนิรันดร์ ด้วยจิตใจอันเคารพรักอย่างหาที่สุดมิได้

 

โฮจิมินต์(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!