สืบ นาคะเสถียร

สืบ นาคะเสถียร

วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง

  เขาคือชายผู้เสียสละ รักษาผืนป่าด้วยความแน่วแน่ ไม่เกรงกลัวอิทธิพล กล้าคิด กล้าทำ และเป็นหัวหน้าที่รักลูกน้อง มีความตั้งใจทำงานเป็นทีม

  เขาคือ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาและนักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้มุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ทุ่มเททั้งชีวิตและจิตวิญญาณในการอนุรักษ์ป่าและสรรพชีวิตในผืนป่า

  สืบ นาคะเสถียร สำเร็จปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มชีวิตข้าราชการในฐานะนักวิชาการกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ. 2518

  ต่อมาเขาได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ และกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ในฐานะนักวิจัย และยังร่วมจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหลายต่อหลายรุ่น

  ในปี พ.ศ. 2529 สืบ ได้รับภารกิจที่สำคัญยิ่ง ในตำแหน่งหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เนื่องจากการสร้างเขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับความรับผิดชอบช่วยอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างอยู่ในแก่งที่น้ำท่วม เนื่องจากการสร้างเขื่อน บนพื้นที่กว่าแสนไร่ กับลูกน้องเพียงอีกไม่กี่คน สืบทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง อุ้มชะนีขึ้นจากน้ำ ย้ายงูขึ้นแผ่นดิน ช่วยกวางป่าให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย

  แม้จะแลดูคล้ายเป็นความพยายามที่เปล่าประโยชน์ แต่สืบกลับรู้สึกว่า หากช่วยชีวิตสัตว์ได้เพิ่มขึ้น 1 ตัวก็ถือว่าเป็นความพยายามที่มีค่าแล้ว ยามเมื่อเห็นสัตว์ตาย ลูกน้องของสืบเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า “หัวหน้าสืบมีสีหน้าราวจะตายไปพร้อมกับสัตว์ตัวนั้น”  แต่เขาก็ยังคงทำงานหนัก แบกภาระ และความรู้สึกหนักอึ้งนั้นต่อไป

  สืบ ช่วยยื้อชีวิตสัตว์ป่ากลับคืนมาได้ 1,364 ตัว แต่ส่วนมากจะตายจากการสร้างเขื่อนครั้งนั้น และที่นี่...สืบได้เข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้

จากนักวิชาการสู่นักอนุรักษ์

  เขาเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากนักวิชาการไปสู่การเป็นนักอนุรักษ์อย่างจริงจัง เป็นโต้โผกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหลายอย่าง เช่น การคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวรจนเป็นผลสำเร็จ

  หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2532 สืบได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศ แต่เขาปฏิเสธ และเลือกไปรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแทน

  วันแรกที่เข้ารับงาน สืบ นาคะเสถียร ได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าห้วยขาแข้งว่า เขามารับงานที่นี่โดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน ด้วยความที่ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่ยังคงบริสุทธิ์ อุดมด้วยพรรณไม้ และสัตว์ป่ามากมาย ทำให้หลายฝ่ายต่างจ้องบุกรุกเพื่อหาประโยชน์จากผืนป่า ขณะนั้นมีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพลหนักมาก รวมทั้งปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลว่าจ้างชาวบ้านเข้ามาตัดไม้ และลักลอบล่าสัตว์ ซ้ำร้ายยังมีปัญหาใหญ่อย่างการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเองอีกด้วย เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามักถูกลอบยิงจนเสียชีวิตจากอิทธิพลมืด

  แม้ว่า สืบ นาคะเสถียร จะตั้งเจตนารมณ์ และพยายามอย่างหนักที่จะรักษาผืนป่าห้วยขาแข้ง จากการจ้องทำลายล้างมรดกทางธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศที่เหลืออยู่ แม้เขาและทีมงานร่วมอุดมการณ์จะพยายามทุกวิถีทาง ทำงานทั้งเชิงป้องกัน เชิงรุก เชิงรับ รวมทั้งงานวิชาการ แต่ภายใต้งบประมาณ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวนน้อยเพียงหยิบมือเดียว เมื่อเทียบกับผืนป่ากว่ากว่าล้านไร่ที่ต้องดูแล ก็ยากที่จะปกป้องผืนป่าเอาไว้ได้

                                                                                  “ ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้ ”

 

  นี่คือสิ่งที่ สืบ มักพูดตอกย้ำทุกครั้ง เมื่อนำเรื่องราวความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพของป่าผืนนี้ และปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่ ไปบอกเล่าให้คนภายนอกฟัง ด้วยหวังว่าจะช่วยสร้างความเข้าใจและเสริมเกราะพิทักษ์รักษาสรรพชีวิตในผืนป่าไว้ได้บ้าง

แม้เสียงของเขาคล้ายเป็นเสียงแห่งความเงียบงันที่ไม่มีใครได้ยิน

แม้ความหวังจะพร่ามัว

แต่เขาก็ไม่เคยท้อแท้ และหยุดย่อนที่จะเปล่งเสียงออกไป

 

  สืบ เริ่มคิดผลักดันให้ผืนป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรเป็น มรดกทางธรรมชาติของโลก เพราะเห็นว่านี่น่าจะเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะอนุรักษ์สรรพชีวิตบนป่าผืนนี้ไว้ได้อย่างดีที่สุด และจะทำให้คนไทยหันมาหวงแหนผืนป่านี้มากขึ้น

  เขาและทีมงานทำงานเก็บข้อมูลอย่างหนัก เพื่อนำเสนอรายงานต่อยูเนสโก และในปี พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียออกเฉียงใต้

  ปัจจุบันผืนป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ หรือกว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร เป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดในประเทศไทย มีความงดงามทางธรรมชาติและมีความสมบูรณ์ของระบบชีววิทยา สัตว์ป่ากลับมาชุกชุมมากขึ้น ชาวบ้านรอบผืนป่าหันมากันอนุรักษ์และช่วยกันปกป้องการคุกคามจากผู้ที่จ้องจะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์

  แม้วันนี้...บุรุษนาม สืบ นาคะเสถียร จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่การอุทิศแรงกายและใจของ สืบ นาคะเสถียร ความมุ่งมั่นทุ่มเทของเขาทำให้ผู้คนทั้งประเทศได้หันกลับมามองสัตว์ป่า ผืนป่า และธรรมชาติ ปลุกจิตสำนึกคนไทยให้รู้สึกหวงแหนธรรมชาติ เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

  ความรักและจริงใจ พลังแห่งศรัทธาต่อธรรมชาติและสัตว์ป่าของเขายังคงอยู่เสมอ ทิ้งไว้เป็นมรดกชิ้นท้ายให้แก่ผืนป่า ที่มิเพียงเป็นมรดกของชาติ หากแต่คือมรดกทางธรรมชาติของโลกใบนี้

 

      “เสียงปืนที่ดั่งลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ              ลูกน้อยที่กอดไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน

             ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น                แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา            

                โทษใดให้ประหาร ศาลไหนพิพากษา              หากลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม

           ชีวิตใครก็รัก ท่านประจักษ์บ้างหรือไม่              โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน”

 

สืบ นาคะเสถียร
1 พ.ค. 2518

สืบ นาคะเสถียร(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!