ครูไพบูลย์ บุตรขัน

ครูไพบูลย์ บุตรขัน

คีตกวีลูกทุ่ง

  ในยุครุ่งเรืองของบทเพลงลูกทุ่ง ครูเพลงที่แต่งเพลงโด่งดัง มีความไพเราะทั้งท่วงทำนอง และภาษา ที่คนไทยนึกถึงจะต้องมีชื่อครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน บทเพลงหลายต่อหลายเพลงที่ครูไพบูลย์แต่งในวันนั้น ยังคงแว่วกังวานอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็น บทเพลงอมตะ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติไทยได้เลยทีเดียว

  เพลง “ค่าน้ำนม” เป็นหนึ่งในผลงานที่มาจากปลายปากกาของครูไพบูลย์ ไม่มีคนไทยคนไหน ไม่เคยได้ยินบทเพลงแห่งการระลึกถึงพระคุณของแม่ ที่เรายังคงได้ยินอยู่เสมอในวันแม่แห่งชาติของทุกปี

  ครูไพบูลย์ บุตรขัน เดิมชื่อ ไพบูลย์ ประณีต เกิดที่บ้านท้องคุ้ง ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นบุตรของนายบุตร และนางพร้อม ประณีต ครอบครัวมีอาชีพทำนา มีฐานะยากจน ชีวิตในวัยเด็ก เติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของชนบท เมื่ออายุได้ 6 ปี บิดาเสียชีวิต จึงได้รับการเลี้ยงดูโดยนายเจน บุตรขัน ผู้เป็นอา นำไปอยู่ที่อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และได้เปลี่ยนนามสกุลจากประณีต มาเป็นบุตรขัน เริ่มเข้ามาศึกษาในกรุงเทพมหานครเมื่ออายุ 8 ขวบ

  ท่านเริ่มเขียนบทละครและเพลงตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมแล้ว พอจบการศึกษาระดับชั้นมัธยม 8 ไพบูลย์ บุตรขัน ก็ได้ทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนกว๋องสิว แล้วลาออกไปทำงานเป็นช่างไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าสามเสน แล้วลาออกไปทำงานกับคณะละคร คณะแม่แก้ว และคณะจันทโรภาส ของพรานบูรพ์ ทำหน้าที่เขียนบทละครวิทยุ แต่งบทละคร และเพลงประกอบละคร

  เพลง ค่าน้ำนม ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข เป็นผลงานเพลงแรกของครูไพบูลย์ที่ได้รับการบันทึกเสียง และได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานอีกด้วย จากนั้นครูไพบูลย์ก็เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่า หากครูไพบูลย์ได้ลงมือแต่งเพลงใดให้นักร้องคนไหนร้องแล้ว เพลงนั้นก็มักจะโด่งดัง เป็นที่รู้จักเสมอ

  งานเพลงของไพบูลย์ บุตรขัน เริ่มบันทึกแผ่นเสียงเมื่อประมาณ พ.ศ. 2490 จากการชักนำของ สวัสดิภาพ บุนนาค ซึ่งเป็นเพื่อนและน้องเขย เพลงในยุคแรกได้แก่ เพลงมนต์เมืองเหนือ, คนจนคนจร, ดอกไม้หน้าพระ, ดอกไม้หน้าฝน, โลกนี้คือละคร (ขับร้องโดย ปรีชา บุณยะเกียรติ), เบ้าหลอมดวงใจ, มนต์รักลูกทุ่ง (ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร), ฝนเดือนหก (ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์), ยมบาลเจ้าขา (ขับร้องโดย บุปผา สายชล) เป็นต้น

  “กลิ่นโคลนสาปควาย” (แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2496 ขับร้องโดยชาญ เย็นแข) เป็นอีกผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของของไพบูลย์ บุตรขัน ที่ทางราชการไทยเคยประกาศห้ามเปิดในช่วงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ แต่ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ แผ่นเสียงเพลงนี้รับความนิยมจากผู้ฟังจำนวนมาก และยังได้รับยกย่องให้เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่งอีกด้วย เพราะในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2500 นั้น เพลงในประเทศไทยยังมิได้แบ่งแยกเป็นเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งออกจากกันอย่างชัดเจน

  ในปี พ.ศ. 2513 ภาพยนตร์เรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ภาพยนตร์เพลงที่ครูไพบูลย์ได้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ก็ได้รับความนิยมเป็นประวัติการณ์ ฉายอยู่นานถึง 6 เดือน และทำรายได้ถึง 6 ล้านบาท ทำรายได้ทำลายสถิติภาพยนตร์ไทยในสมัยนั้นเลยทีเดียว และทำให้เพลง “มนต์รักลูกทุ่ง” (ขับร้องโดยไพรวัลย์ ลูกเพชร) ประสบความสำเร็จสูงสุด ได้รับรางวัลชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ประเภทเนื้อร้องและทำนองในปี พ.ศ. 2514 อีกด้วย

  เนื้อหาส่วนใหญ่ของเพลงที่ครูไพบูลย์แต่ง ล้วนแล้วแต่มาจากประสบการณ์ส่วนตัว สะท้อนชีวิตคนชนบท เพลงบางเพลงของครูไพบูลย์ยังสะท้อนสังคม ผ่านการเปรียบเทียบและภาษาที่สวยงามได้อย่างแยบคาย เช่น ตาสีกำสรวล (ขับร้องโดย คำรณ สมบุณณานนท์)

  ครูไพบูลย์ ใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตแต่งเพลงในบ้านหลังเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งปัจจุบันได้บ้านหลังนี้เปิดให้ผู้ที่รักและชื่นชอบในบทเพลงของครูไพบูลย์ได้เข้าชมเพื่อระลึกถึงท่าน

  ท่านได้ลาโลกนี้ และทำให้วงการเพลงลูกทุ่งไทยสูญเสียบุคลากรอันทรงคุณค่าไปในปี พ.ศ. 2515 ในวัยเพียง 54 ปีเท่านั้น ทิ้งไว้เพียงแต่ผลงานอันเป็นบทเพลงที่ทรงคุณค่าและเป็นอมตะให้กับคนไทย

  หลังจากเสียชีวิตไปแล้วหลายปี ในปี พ.ศ. 2532 เพลงของครูไพบูลย์ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกไทยถึง 10 เพลง ได้แก่เพลงชายสามโบสถ์ (ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์), น้ำตาเทียน (ขับร้องโดย ทูล ทองใจ), บ้านไร่น่ารัก และเพชรร่วงในสลัม (ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ), ฝนซาฟ้าใส (ขับร้องโดย ยุพิน แพรทอง), ฝนเดือนหก (ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์), บุพเพสันนิวาส และมนต์รักแม่กลอง (ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ), มนต์รักลูกทุ่ง (ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร) และยมบาลเจ้าขา (ขับร้องโดย บุปผา สายชล) และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลจากเพลงหนุ่มเรือนแพ (ขับร้องโดย กาเหว่า เสียงทอง) เชื่อว่า หลายบทเพลงท่านคงคุ้นหูกันดี แต่ไม่ทราบว่าเป็นผลงานของครูไพบูลย์ อมตะครูเพลงลูกทุ่งผู้นี้เอง

ครูไพบูลย์ บุตรขัน(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!