สมเด็จพระปิยมหาราช

สมเด็จพระปิยมหาราช

  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระพุทธเจ้าหลวง กษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี หรืออีกชื่อที่เราคุ้นเคยกันดีคือ “สมเด็จพระปิยมหาราช”  อันมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

  ในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งสามารถเข้ายึดประเทศเพื่อนบ้านได้โดยรอบ พม่าและมาเลเซีย ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เวียดนามและกัมพูชา ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส สยามตกอยู่ภายใต้วงล้อม ถูกบีบคั้นอย่างรุนแรง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ไม่ผิดกับการผจญศึกสงครามครั้งสำคัญ หากแต่พระองค์ก็ทรงพาสยามผ่านพ้นการเสียเอกราชมาได้ ด้วยพระปรีชาญาณอันล้ำลึก

  ในปี พ.ศ. 2436 หรือตรงกับ ร.ศ. 112 สถานการณ์ตึงเครียดถึงขีดสุด เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสส่งเรือปืนรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดการยิงต่อสู้ทางเรือขึ้นที่ปากแม่น้ำ เป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ ที่หมิ่นเหม่ต่อเอกราชของชาติ กินระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี รู้จักกันในนาม วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

  ในการสู้รบครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างเสียหาย สยามเป็นฝ่ายที่สูญเสียหนักกว่า แต่ฝรั่งเศสกลับบังคับให้สยามชดใช้ค่าเสียหายทั้งที่ตนเป็นฝ่ายรุกราน สยามต้องเสียค่าปรับสงครามให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นจํานวนถึง 3 ล้านฟรังก์

  พระองค์จำต้องยอมรับเงื่อนไข เพื่อ “รักษาเอกราช” ของชาติไว้ จนเงินถุงแดงหรือเงินจากคลังหลวงหมดสิ้น แม้พระองค์สละเงินพระคลังข้างแท่นส่วนพระองค์มารวมก็ยังไม่เพียงพอ ต้องรวบรวมเงินจากพระบรมวงศานุวงศ์มาสมทบด้วย และจำต้องเสียดินแดนส่วน  หนึ่งของราชอาณาจักรไป เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้สมเด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรมพระราชหฤทัยจนทรงพระประชวร

  พระองค์ทรงจำยอมเสียดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ไปถึง 6 ครั้ง เพื่อรักษาเอกราชของชาติ จนทำให้สยามประเทศไม่ตกเป็นเมืองขึ้นจากการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ดังพระ...

  ราชหัตถเลขาที่บันทึกไว้ว่า “ถ้าความเป็นเอกราชของสยามได้สุดสิ้นไปเมื่อใด ชีวิตฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น”

  พระองค์ทรงตัดสินพระทัยว่า มีความจําเป็นต้องเสด็จฯ ประพาสยุโรป เพื่อให้นานาชาติได้รู้จักกับสยามในฐานะของประเทศที่มีความศิวิไลซ์ รวมทั้งเป็นการแสวงหามหามิตรเพื่อมาคานอํานาจกับฝรั่งเศส

การเสด็จประพาสยุโรปของพระองค์ได้นําความเจริญก้าวหน้ามาสู่แผ่นดินสยามอย่างมากมาย ทั้งกิจการภายในและต่างประเทศ ประกอบกับทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยในวิชาความรู้ และวิทยาการแขนงต่างๆ จึงได้นำมาใช้บริหารประเทศให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว

  ในส่วนของกิจการภายในประเทศ ทรงปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ทั้งประเพณีการแต่งกายและการดำรงชีวิต ก่อเกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ผสมผสานกับตะวันตกได้อย่างลงตัว โปรดให้ปรับปรุงด้านการทหาร ตำรวจ เศรษฐกิจ การคลัง กฎหมาย การศาล การแพทย์ และสาธารณสุข พร้อมวางแนวทางพัฒนาด้านเกษตรกรรม คมนาคม การสื่อสาร และสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ให้ก้าวหน้าทันสมัย ทรงปฏิรูปการปกครอง กระจายพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินมาสู่กลุ่มคนต่างๆ ในรูปกระทรวง กรม กอง และการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญคือ การโปรดให้เลิกทาสและระบบไพร่ พร้อมทั้งจัดระบบการศึกษา พัฒนาชาวสยามให้ทัดเทียมเท่าทันชาวตะวันตก

  ด้านต่างประเทศ ทรงดำเนินวิเทโศบาย ใช้การฑูตนำการทหาร เจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติทั่วโลก ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปถึงสองครั้ง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกจากทวีปเอเชียที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญากิติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแคมบริด ประเทศอังกฤษ และในปี พ.ศ. 2546 องค์การศึกษาวิทยศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก

  พระองค์ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุขทั่วทั้งแผ่นดิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรงโปรดการเสด็จประพาสต้นไปทั่วประเทศ เป็นการสร้างรูปแบบความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระมหากษัตริย์และพสกนิกรอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ หากแต่พระองค์ทรงทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ได้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร รวมทั้งที่จังหวัดราชบุรี หรือมณฑลราชบุรีในครั้งนั้น ก็ทรงโปรดประพาสต้นมาหลายครั้งหลายครา ทั้งเพื่อเยี่ยมเยียนพสกนิกร และพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อพักผ่อนพระวรกาย ตามคำแนะนำของหมอหลวงเมื่อครั้งประชวร

  ด้วยราษฎรได้ประจักษ์รักในน้ำพระราชหฤทัย และพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ร่วมใจกันบริจาคเงินร่วมกันสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวาย ณ พระลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายในรัชกาลของพระองค์ ขณะยังดำรงพระชนม์อยู่เมื่อปี พ.ศ. 2451 ถือเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่งประการหนึ่งคือ ตามปรกติอนุสาวรีย์ของบุคคลนั้น มักจะสร้างภายหลังที่บุคคลนั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว ยกเว้นพระบรมรูปทรงม้าแห่งเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดพระบรมรูปด้วยพระองค์เอง

  การสร้าง “พระบรมรูปทรงม้า” นั้น สืบเนื่องมาจาก 2 กรณีประกอบกัน คือ กรณีแรก เวลานั้นพระองค์ทรงคิดแผนผังสนามขนาดใหญ่ เพื่อเชื่อมถนนราชดำเนินที่สร้างเสร็จแล้ว กับพระที่นั่งอนันตสมาคมที่กำลังสร้าง กรณีที่สอง คือ อีกปีเศษจะถึงอภิลักขิตมงคล ซึ่งพระองค์จะทรงครองราชย์ยืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในประวัติศาสตร์ไทยในขณะนั้น จึงเห็นควรให้มีการสมโภชเป็นงานใหญ่ และได้ดำรัสสั่งให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เป็นประธานในการจัดงานสมโภช เนื่องจากพระองค์ยังทรงอยู่ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป โดยใช้ชื่อการจัดงานครั้งนี้ว่า “พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก” 

  ด้วยทรงตรากตรำพระราชกรณียกิจอย่างหนักมาตลอดพระชนชีพ ในปี พ.ศ. 2453 พระพลานามัยเริ่มไม่แข็งแรง เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง ทรงได้รับคำแนะนำจากแพทย์ชาวตะวันตกให้ประทับรักษาพระองค์ต่อในต่างประเทศ แต่ไม่ทรงโปรด จึงทรงตัดสินพระทัยกลับสยาม ด้วยทรงเป็นห่วงเมืองไทย และพสกนิกรที่รักยิ่งของพระองค์

  เที่ยงคืน 45 นาที ของวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระองค์เสด็จสวรรคตบนแผ่นดินที่ทรงรักยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ยังความโศกเศร้าทั่วผืนดินสยามที่ได้สูญเสียสมเด็จพระปิยมหาราช อันหมายความถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน

สมเด็จพระปิยมหาราช(PDF)

อ่านต่อ
error: Content is protected !!